การพัฒนากองทุนหมู่บ้านไปสู่สถาบันการเงินสำหรับชุมชนเป็นการดำเนินงานของกองทุนหมู่บ้านและสถาบันทางการเงินเพื่อการพัฒนากองทุนหมู่บ้านซึ่งการจัดตั้งกองทุนหมู่บ้านมีเจตนารมณ์เพื่อเป็นแหล่งเงินทุนหมุนเวียนเพื่อให้ประชาชนนำไปใช้ในการพัฒนาอาชีพ การสร้างรายได้เพื่อลดค่าใช้จ่ายรวมทั้งการเสริมสร้างภูมิคุ้มกันทางเศรษฐกิจให้กับชุมชนอีกด้วย ซึ่งแนวทางการบริหารในการจัดตั้งกองทุนหมู่บ้านนั้นมีหลักการสำคัญเพื่อสร้างความพร้อมภายในชุมชนที่จะทำให้เกิประโยชน์ต่อชุมชนและสังคมในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจภายในชุมชนและเป็นแหล่งของการสร้างอาชีพรายได้ภายในครอบครัว
สำหรับปัญหาของการดำเนินงานกองทุนหมู่บ้านและสถาบันการเงินชุมชนส่วนใหญ่จะเป็นปัญหาในด้านการบริหารจัดการภายในสถาบันการเงินชุมชนและกฎระเบียนที่เกี่ยวข้อง ได้แก่
1.ผู้นำ เช่น คณะกรรมการไม่มีความรู้ ความสามารถในด้านการจัดการเทคโนโลยี การใช้คอมพิวเตอร์ ขาดทักษะการประสานงานจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง
2.ด้านสำนักงาน เนื่องจากการขาดอุปกรณ์สำนักงาน การจัดเก็บเอกสารไม่มีความชัดเจน
3.การบริหารจัดการ เช่น ขาดการประชาสัมพันธ์ การปรึกษาหารือและการช่วยเหลือจากสำนักงานกองทุนหมู่บ้าน
4.ด้านสมาชิก ซึ่งขาดวินัยทางการเงินของตนเอง
5.ด้านเงินทุน เนื่องจากขาดเงินทุนสำรองในการบริหารจัดการไม่มีระบบประกันความเสี่ยงด้านการเงิน
6.การส่งเสริมสนับสนุนจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง โดยสำนักงานกองทุนหมู่บ้านไม่มีเวลาให้คำแนะนำและติดตามการทำงานของกองทุน
7.ด้านกฎหมายและระเบียน อย่างเช่น ความไม่ชัดเจนของกฎหมายทำให้เกิดความไม่เข้าใจต่อกองทุนต่างๆ
ทั้งนี้แนวทางสำหรับการพัฒนากองทุนหมู่บ้านไปสู่สถาบันการเงินของชุมชนที่สำคัญคือ
1.ปัจจัยภายใน คือ ผู้นำ ซึ่งเป็นผู้ที่มีวิสัยทัศน์ในการบริหาร มีความซื่อสัตย์ เป็นที่ยอมรับของคนในชุมชน มีความรู้ความสามารถ และด้านการบริหารจัดการ โดยการมีบุคลากรสนับสนุนด้านบัญชี มีคอมพิวเตอร์เพื่อการจัดเก็บข้อมูลที่เป็นระบบ มีการประชุมในทุกๆเดือน และมีการตรวจสอบทั้งภายในและภายนอกรวมทั้งการมีกฎระเบียนที่ชัดเจน
2.ปัจจัยภายนอก คือ การสนับสนุนด้านการเงิน ให้ความรู้ด้านบัญชีและระบบคอมพิวเตอร์รวมทั้งการให้คำปรึกษาและการติดตามผลอย่างมีระบบ
จะเห็นได้ว่าการพัฒนาเพื่อให้บรรลุเป้าหมายของการพัฒนากองทุนและสถาบันทางการเงินที่ยั่งยืนนั้นควรจะมีการสร้างกลไกในการทำงานที่สามารถส่งเสริมโดยการจัดทำระเบียบ กติกาของกองทุน และควรจะต้องมีผู้บริหารและคณะกรรมการที่มีความรู้ ความสามารถในการบริหารจัดการ มีการแบ่งปันประโยชน์และการจัดสวัสดิการแก่ชุมชนด้วย เพราะหากมีการบริหารจัดการที่ดีก็จะทำให้กระบวนการขับเคลื่อนทางการเงินของชุมชนมีความยั่งยืนไปด้วย