Category Archives: แนวคิดการทำธุรกิจ

การจัดตั้งกองทุนหมู่บ้านเพื่อการบรรเทาการเงินเหตุฉุกเฉินและจำเป็นเร่งด่วน

กองทุนหมู่บ้าน เป็นแหล่งเงินทุนหมุนเวียนในหมู่บ้านและชุมชนเมือง สำหรับการลงทุนเพื่อพัฒนาอาชีพ สร้างงาน สร้างรายได้ หรือเพิ่มรายได้ การลดรายจ่าย การบรรเทาเหตุฉุกเฉินและจำเป็นเร่งด่วน และสำหรับการนำไปสู่การสร้างกองทุนสวัสดีภาพที่ดีแก่ประชาชนในหมู่บ้านหรือชุมชน ส่งเสริมและพัฒนาหมู่บ้านและชุมชนเมืองให้มีขีดความสามารถ ในการจัดระบบและบริหารจัดการเงินทุนของตนเอง เสริมสร้างกระบวนการพึ่งพาตนเองของหมู่บ้านและชุมชนเมือง ในด้านการเรียนรู้ การสร้างและพัฒนาความคิดริเริ่ม เพื่อการแก้ไขปัญหา และเสริมสร้างศักยภาพและส่งเสริมเศรษฐกิจพอเพียง ในหมู่บ้านและชุมชนเมือง กระตุ้นเศรษฐกิจในระดับฐานรากของประเทศ รวมทั้งเสริมสร้างภูมิคุ้มกันทางเศรษฐกิจและสังคมของประเทศในอนาคต เสริมสร้างศักยภาพและความเข้มแข็ง ทั้งทางเศรษฐกิจ และสังคมของประชาชนในหมู่บ้าน และยังมีการทำธุรกิจชุมชนขึ้นมาเพื่อเป็นการนำเอาภูมิปัญญาท้องถิ่นและวัตถุดิบที่มีในชุมชนของเรามาผ่านกระบวนการแปรรูปและนำไปสู่การจำหน่ายผลิตภัณฑ์ได้มากยิ่งขึ้น โดยกระบวนการความร่วมมือกันของชุมชน ทำให้เกิดมีรายได้ ลดความขัดแย้งระหว่างชุมชน ประธานกองทุนยังได้บอกอีกว่า เมื่อมีรายได้เข้าชุมชนแล้วพอถึงกำหนดการชำระหนี้ของกองทุนหมู่บ้านก็ไม่เกิดความขัดแย้งและสิ่งที่สำคัญที่สุดคือทำให้คนในหมู่บ้านเกิดความสามัคคีรู้จักช่วยเหลือซึ่งกันและกัน

การจัดตั้งกองทุนหมู่บ้าน เพื่อเป็นเงินทุนหมุนเวียนช่วยเหลือสมาชิกในกลุ่ม โดยอาศัยการจัดตั้งในลักษณะของสหกรณ์ออมทรัพย์แต่การจัดตั้งดังกล่าวต้องใช้เวลาในการสะสมเงินทุนของสมาชิกให้เพียงพอ เพื่อรองรับความต้องการกู้ยืมของสมาชิกในกลุ่มนั้นๆ ดังนั้นการให้เงินทุนประเดิมจำนวน 1 ล้านบาทจากภาครัฐในโครงการกองทุนหมู่บ้านฯ จึงเป็นการสร้างทางลัดให้ประชาชนในหมู่บ้านสามารถนำเงินทุนที่ได้มาบริหารให้สมาชิกได้กู้ยืม เพื่อเพิ่มศักยภาพด้านการผลิตและเป็นแหล่งเงินทุนหมุนเวียนในการประกอบอาชีพที่ทำอยู่ แต่จากความเคยชินกับรูปแบบการให้ความช่วยเหลือแบบให้เปล่าของภาครัฐในอดีต ทำให้ประชาชนที่เคยได้รับความช่วยเหลือในรูปแบบเดิมมองว่าเงินประเดิมกองทุนหมู่บ้านฯ เป็นเงินที่มีลักษณะเหมือนการช่วยเหลือเช่นที่ผ่านมา จึงไม่จำเป็นต้องชำระคืนก็ได้ ซึ่งจะเป็นอุปสรรคต่อการบรรลุเป้าหมายของกองทุนหมู่บ้านฯ ที่มุ่งหวังให้เงินจำนวน 1 ล้านบาทเป็นทุนประเดิมให้ชุมชนสร้างดอกผลเพื่อขยายเงินทุนให้กับสมาชิกอื่นๆ ที่มีความจำเป็นต้องกู้ยืมต่อไป

กองทุนสวัสดิการชุมชน

กองทุนสวัสดิการชุมชน
กองทุนสวัสดิการชุมชน คือการสร้างหลักประกันเพื่อความมั่นคงของคนในชุมชน ซึ่งหมายรวมถึงทุกอย่างที่จะทำให้คนในชุมชนมีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น ทั้งในรูปของสิ่งของ เงินทุน น้ำใจ การช่วยเหลือเกื้อกูล เป็นเรื่องที่เกี่ยวกับวิถีชีวิตตั้งแต่ เกิด แก่ เจ็บ ตาย เป็นระบบการช่วยเหลือเกื้อกูลของคนในท้องถิ่น ที่มีรูปแบบและวิธีการที่หลากหลาย เป็นเรื่องราวเกี่ยวข้องกับวิถีชีวิต ตั้งแต่เกิดจนกระทั่งตาย ก่อให้เกิดรายได้ลดรายจ่าย นำไปสู่การแก้ไขปัญหาความยากจน
โดยสังคมไทยมีพื้นฐานวัฒนธรรมการอยู่ร่วมกันแบบช่วยเหลือเกื้อกูลกันมายาวนาน มีสวัสดิการแบบธรรมชาติที่ตั้งอยู่บนพื้นฐานของความเอื้ออาทร เคารพซึ่งกันและกันระหว่างคนกับคน และคนกับธรรมชาติ เมื่อสังคมเปลี่ยนแปลงไปบทบาทของชุมชนในการดูแลกันและกันก็ลดลง แต่หลังจากสังคมไทยประสบภาวะวิกฤติเศรษฐกิจปี ๒๕๔๐ ปราชญ์ชาวบ้าน ผู้นำชุมชน ส่วนหนึ่งได้ร่วมกันปรึกษาหารือเพื่อร่วมกันฟื้นฟูระบบคุณค่าเดิม ทุนทางสังคมที่มีอยู่มาช่วยเหลือเกื้อกูลกันในลักษณะของการจัดสวัสดิการจากฐานทุนด้านต่าง ๆที่มีอยู่ของชุมชน เช่น สวัสดิการจากฐานกลุ่มออมทรัพย์ องค์กรการเงิน วิสาหกิจชุมชน ความเชื่อทางศาสนา การจัดการทรัพยากรธรรมชาติฯลฯ
การดำเนินการของกองทุนสวัสดิการชุมชน
1. เป็นกองทุนที่มี สมาชิก ทำงานให้บริการสมาชิกและ/หรือคนอื่นๆในชุมชนตามที่สมาชิกตกลงร่วมกัน
2. เงินกองทุน มาจากการสมทบของสมาชิก การบริจาคสมทบของหน่วยงาน องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นและการระดมทุนเพิ่มเติมด้วยวิธีการต่างๆ ปัจจุบันกองทุนส่วนใหญ่สมาชิกสมทบวันละ๑ บาทหรือปีละ ๓๖๕ บาท แต่ก็มีกองทุนบางส่วนที่ใช้การระดมทุนด้วยวิธีการอื่นๆ เช่น จากผลกำไรกลุ่มออมทรัพย์ ฯลฯเงินสมทบดังกล่าวจะไม่คืนเงินเมื่อสมาชิกลาออก
3. การบริหารจัดการ สมาชิกจะเลือกคณะกรรมการ มาบริหารกองทุน โดยมีระเบียบกองทุนเกี่ยวกับสมาชิก การสมทบเงิน และการจ่ายเงินสวัสดิการ เป็นเครื่องมือในการทำงาน
4. การช่วยเหลือสมาชิก ประเภทสวัสดิการที่จัด จำนวนเงินช่วยเหลือ เป็นไปตามกติการ่วมและฐานะการเงินของแต่ละกองทุน
ปัจจุบันกองทุนสวัสดิการชุมชนสามารถจัดสวัสดิการได้กว่า 10 ประเภทตั้งแต่การคลอดบุตร เจ็บป่วย ช่วยเหลือผู้สูงอายุ คนพิการ คนด้อยโอกาส ทุนการศึกษา ช่วยงานสาธารณะประโยชน์ในชุมชน ช่วยเหลือผู้ประสบภัย เงินยืมไม่มีดอกเบี้ยสำหรับสมาชิก ทุนอาหารกลางวันนักเรียน เงินบำนาญ ฯลฯ ทั้งนี้ตามความพร้อมของเงินกองทุน

กองทุนช่วยเหลือผู้เสียหายจากการค้ามนุษย์

กองทุนช่วยเหลือผู้เสียหายจากการค้ามนุษย์
ตามพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์ พ .ศ. 2551 โดย มี วัตถุประสงค์เพื่อเป็นทุนใช้จ่าย สำหรับการป้องกัน และปราบปรามการค้ามนุษย์ เพื่อช่วยเหลือผู้เสียหายจากการกระทำความผิดฐานค้ามนุษย์ และให้การสนับสนุนโครงการเกี่ยวกับการป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์ของหน่วยงานภาครัฐและองค์กรเอกชนด้านการป้องกัน และปราบปรามการค้ามนุษย์
การให้ความช่วยเหลือผู้เสียหายจากการกระทำความผิดฐานค้ามนุษย์ ประกอบด้วย
1. คุณสมบัติของผู้มีสิทธิ์ขอรับความช่วยเหลือจากกองทุน คือ เป็นผู้เสียหายจากการกระทำความผิดฐานค้ามนุษย์ โดยกองทุนให้ความช่วยเหลือในกรณีต่อไปนี้ คือการช่วยเหลือผู้เสียหายจากการกระทำความผิดฐานค้ามนุษย์, การคุ้มครองความปลอดภัยให้แก่ผู้เสียหายจากการกระทำความผิดฐานค้ามนุษย์ และการช่วยเหลือผู้เสียหายจากการกระทำความผิดฐานค้ามนุษย์ในต่างประเทศให้เดินทางกลับเข้ามาในราชอาณาจักรหรือถิ่นที่อยู่
2. การยื่นขอรับความช่วยเหลือ กรณีที่ผู้ยื่นคำขอมีภูมิลำเนา หรือถิ่นที่อยู่ในเขตกรุงเทพมหานคร ให้ยื่นที่สำนักป้องกันและแก้ไขปัญหาการค้าหญิงและเด็ก กรมพัฒนาสังคมและสวัสดิการ ส่วนกรณีที่ผู้ยื่นคำขอมีภูมิลำเนาหรือถิ่นที่อยู่ในเขตจังหวัดใด ให้ยื่นที่สำนักงานพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์จังหวัดนั้นๆ
3. หลักฐานประกอบการยื่นขอรับความช่วยเหลือ ประกอบด้วย คำขอรับความช่วยเหลือตามแบบฟอร์มที่กำหนด , สำเนาบัตรประจำตัวประชาชน หรือสำเนาทะเบียนบ้านในเขตจังหวัดที่ขอรับการช่วยเหลือ และหลักฐานประกอบอื่น ๆ เช่น ใบเสร็จรับเงิน เป็นต้น
4. ประเภทรายการที่สามารถให้ความช่วยเหลือ ประกอบด้วย
– ค่าใช้จ่ายในการครองชีพ
– ค่าใช้จ่ายในการรักษาพยาบาล รวมถึงค่าใช้จ่ายเกี่ยวกับค่าพาหนะ ค่าอาหารระหว่างติดต่อ รักษาพยาบาล
– ค่าใช้จ่ายในการบำบัดฟื้นฟูทางร่างกายและจิตใจ
– ค่าขาดประโยชน์ทำมาหาได้ในระหว่างที่ไม่สามารถประกอบการงานได้ตามปกติ
– ค่าใช้จ่ายในการช่วยเหลือเป็นเครื่องอุปโภคบริโภค
– ค่าใช้จ่ายในการจัดหาที่พัก
– ค่าใช้จ่ายในการศึกษาหรือฝึกอบรม
– ค่าใช้จ่ายในการให้ความช่วยเหลือทางกฎหมายหรือการดำเนินคดีเพื่อเรียกร้องค่าสินไหม ทดแทน หรือตามคำสั่งศาล
– ค่าใช้จ่ายในการส่งกลับไปยังประเทศเดิมหรือภูมิลำเนาของผู้เสียหาย
– ค่าใช้จ่ายในการช่วยเหลือผู้เสียหายในต่างประเทศให้เดินทางกลับเข้ามาในราชอาณาจักร หรือถิ่นที่อยู่
– ค่าใช้จ่ายในกรณีอื่น ๆ ตามที่คณะกรรมการบริหารกองทุนอนุมัติเป็นการเฉพาะราย

กองทุนแรงงานไทยไปต่างประเทศ

กองทุนแรงงานไทยไปต่างประเทศ
กฎหมายกำหนดให้บริษัทจัดหางานจัดให้นายจ้างส่งเงินเข้ากองทุนเพื่อช่วยเหลือคนหางานไปทำงานต่างประเทศสำหรับคนหางานแต่ละคน กรณีที่นายจ้างไม่ส่งเงินกองทุนฯ บริษัทจัดหางานจะต้องจัดส่งเงินเข้ากองทุนฯ เอง ทั้งนี้เพื่อให้คนหางานที่ไปทำงานต่างประเทศได้รับการคุ้มครองจากกองทุนฯ สำหรับผู้ที่เดินทางไปทำงานโดยวิธีอื่น ก็สามารถสมัครเข้าสมาชิกกองทุนฯ ได้โดยจ่ายเงินเข้ากองทุนฯ ตามอัตราที่กฎหมายกำหนด คือ 300 บาท 400 บาท หรือ 500 บาท ขึ้นอยู่กับว่าจะเดินทางไปทำงานที่ประเทศอะไร

สิทธิประโยชน์ที่จะได้รับจากกองทุนแรงงานไทยไปต่างประเทศ

1.สงเคราะห์ค่าใช้จ่ายการเดินทางกลับภูมิลำเนาเป็นค่าพาหนะ ค่าที่พัก ค่าอาหาร ค่ารักษาพยาบาล และค่าใช้จ่ายอื่นที่จำเป็น กรณีถูกทอดทิ้งในต่างประเทศ ตามที่จ่ายจริง ภายในวงเงิน 30,000 บาท

2.สงเคราะห์เป็นค่าพาหนะ ค่าที่พัก ค่าอาหาร ค่ารักษาพยาบาล และค่าใช้จ่ายอื่น ๆ กรณีประสบปัญหาในต่างประเทศ เช่น รอเข้าทำงานใหม่ รอส่งกลับประเทศไทย รอการดำเนินคดีหรือกรณีอื่น ในลักษณะเดียวกัน โดยจ่ายตามที่จ่ายจริงในวงเงิน 30,000 บาท

3.สงเคราะห์ค่ารักษาพยาบาล กรณีประสบอุบัติเหตุ หรือประสบอันตรายก่อนเดินทางไปทำงานต่างประเทศตามที่จ่ายจริงภายในวงเงิน 30,000 บาท

4.สงเคราะห์กรณีประสบอันตรายจนพิการหรือทุพพลภาพ ทั้งในและนอกประเทศ

– กรณีพิการ จ่าย 15,000 บาท

– กรณีทุพพลภาพ จ่าย 30,000 บาท

5.สงเคราะห์กรณีถูกส่งกลับเนื่องจากแพทย์ตรวจพบเป็นโรคต้องห้าม ดังนี้

– จ่าย 25,000 บาท สำหรับผู้ที่ถูกส่งกลับภายใน 6 เดือนแรก

– จ่าย 15,000 บาท สำหรับผู้ที่ส่งกลับหลัง 6 เดือนแรก แต่ยังไม่ครบสัญญาจ้าง

6.สงเคราะห์ค่าจ้างทนายความต่อสู้คดีอาญาในต่างประเทศในความผิด สิ่งมิใช่เกิดจากการกระทำโดยเจตนา ตามที่จ่ายจริงในวงเงิน 100,000 บาท

7.สงเคราะห์กรณีถึงแก่ความตายในต่างประเทศ ดังนี้

– สงเคราะห์ค่าจัดการศพในต่างประเทศหรือนำศพกลับประเทศ (กรณีไม่มีผู้รับผิดชอบ) ตามที่จ่ายจริงภายในวงเงิน 40,000 บาท

– สงเคราะห์บรรเทาความเดือดร้อนของทายาทผู้ตาย 3 กรณีดังนี้

  1. เสียชีวิตในต่างประเทศจ่ายศพละ 40,000 บาท
  2. เสียชีวิตขณะกลับมาพักผ่อนในประเทศไทยจ่ายศพละ 30,000 บาท
  3. ประสบอันตรายก่อนไปทำงานแล้วเสียชีวิตจ่ายศพละ 30,000 บาท

8.กรณีมีความจำเป็นและเร่งด่วนต้องสงเคราะห์แก่สมาชิกกองทุนฯ นอกเหนือ จากที่กำหนด ไว้นี้ อธิบดีมีอำนาจสั่งจ่ายเงินกองทุนฯ โดยความเห็นชอบของคณะกรรม การกองทุนฯ เพื่อสงเคราะห์ แก่สมาชิกผู้เดือดร้อนได้

กองทุนกู้เงินสำหรับผู้สูงอายุ

กองทุนผู้สูงอายุ เป็นแหล่งเงินกู้แบบไม่มีดอกเบี้ย ซึ่งเป็นหน่วยงานที่อยู่ในความดูแลของรัฐบาล สำนักงานส่งเสริมสวัสดิภาพและพิทักษ์เด็ก เยาวชน ผู้ด้อยโอกาส คนพิการ และผู้สูงอายุ โดยผู้สูงอายุสามารถยื่นเรื่องขอกู้ เพื่อไปทำกิจกรรมต่างๆ ทั้งเพื่อส่วนบุคคลและส่วนรวม

จุดประสงค์ของกองทุนผู้สูงอายุ มีดังนี้

  1. เพื่อการประกอบอาชีพ(ประกาศกระทรวงแรงงาน เรื่อง การกำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขการคุ้มครอง การส่งเสริมและสนับสนุนผู้สูงอายุในการประกอบอาชีพและฝึกอาชีพที่เหมาะสม เมื่อ 16 กันยายน 2547) สำหรับผู้สูงอายุที่ไม่สามารถกู้เงินจากธนาคารได้ หรือกู้ได้ไม่เต็มวงเงิน ก็สามารถกู้เงินจากกองทุนผู้สูงอายุได้เช่นกัน อีกทั้งเมื่อรวมเป็นกลุ่มแล้วยังสามารถกู้เพิ่มได้มากขึ้นด้วย
  2. เพื่อส่งเสริมหรือสนับสนุน ผู้สูงอายุจะได้รับบริการและการสนับสนุนเพื่อให้เกิดการพัฒนาตนเองและการมีส่วนร่วมในกิจกรรมทางสังคม การรวมกลุ่มในลักษณะเครือข่ายหรือชุมชนจากหน่วยงานของกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ กิจกรรมสำหรับผู้สูงอายุ กู้เงินเพื่อจัดกิจกรรมเพื่อส่วนรวม  แต่กิจกรรมนั้นต้องมีความชัดเจนของโครงการหรือกิจกรรม การมีส่วนร่วมจากบุคคลทั้งภาครัฐและเอกชน สามารถขอกู้ในวงเงินตั้งแต่ 50,000-300,000 บาท
  3. เพื่อความช่วยเหลือนอกจาก เบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ รายเดือน เดือนละ 600 บาทจากรัฐฯแล้ว หากผู้สูงอายุมีความเดือดร้อน และประสบปัญหาเรื่องที่อยู่อาศัย ก็สามารถขอรับความช่วยเหลือ จากกองทุนผู้สูงอายุได้ไม่เกิน 10,000 บาท เงินกู้สำหรับอาหารและเครื่องนุ่งห่ม รายละไม่เกิน 2,000 บาท

สำหรับผู้สูงอายุที่สนใจสามารถไปติดต่อสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมกับสำนักงานพัฒนาสังคมประจำจังหวัดของตน หรือผู้สูงอายุที่มีภูมิลำเนาอยู่ในกรุงเทพฯ สามารถติดต่อได้ที่ สำนักส่งเสริมและพิทักษ์ผู้สูงอายุ สำนักงานส่งเสริมสวัสดิภาพ และพิทักษ์เด็ก เยาวชน ผู้ด้อยโอกาส คนพิการ และผู้สูงอายุ

ในปัจจุบันนอกจากจะมีกองทุนเพื่อผู้สูงอายุแล้ว ยังมีหน่วยงานต่างๆที่ช่วยสนับสนุนอยู่มากมาย ไม่ว่าจะเป็นทางด้านการแพทย์ของกระทรวงสาธารณะสุขที่คอบให้ความสะดวกและรวดเร็วกับผู้สูงอายุเป็นกรณีพิเศษ โดยมีการจัดให้มีห้องแยกสำหรับผู้สูงอายุโดยเฉพาะ ซึ่งแม้ว่าในทางปฏิบัติโรงพยาบาลส่วนใหญ่ในปัจจุบันยังมีข้อจำกัดเรื่องบุคลากรที่ไม่เพียงพอจึงทำให้ยังไม่สามารถดำเนินการดังกล่าวได้ แต่ในอนาคตเริ่มมีการแก้ไขปัญหานี้เพื่อให้ทั่วถึงยิ่งขึ้น