การฝึกฝนให้เด็กรู้จักช่วยเหลือผู้อื่นตั้งแต่ยังเด็กให้ติดเป็นนิสัย

5

การให้เด็กวัยเรียนรู้จักกับทุกอารมณ์ความรู้สึกที่ผ่านเข้ามา และช่วยให้เขาสามารถหาทางออกที่เหมาะสม เพื่อเป็นพื้นฐานของการแก้ปัญหา ควรส่งเสริมให้เด็กในวัยนี้ควบคุมอารมณ์ความรู้สึกของตัวเอง และปรับตัวในสังคมอย่างเหมาะสม โดยฝึกฝนแนะนำ ให้คำชมเมื่อเด็กทำได้ดี และแก้ไข ชักจูง แนะนำเมื่อเด็กทำตัวไม่เหมาะสม จะเป็นการสร้างเสริมความฉลาดทางอารมณ์ที่เรารู้จักกันดีในนามของอีคิว ซึ่งเป็นทักษะหรือศิลปะของการใช้ชีวิตในสังคมได้อย่างมีความสุข การชี้ให้เด็กเห็นถึงความแตกต่างของแต่ละบุคคล มองข้ามความไม่ถูกใจ ชี้ให้เห็นข้อดีของคนอื่น การแสดงอารมณ์อย่างเหมาะสม เรียนรู้เรื่องความมีน้ำใจเป็นนักกีฬา รู้จักแพ้ รู้จักผิดหวัง และรู้จักหาทางขจัดความรู้สึกผิดหวังไม่ให้มีมากหรือนานเกินไป พยายามทำใหม่ในครั้งต่อไป จะเป็นการเสริมสร้างทักษะของการควบคุมอารมณ์ความรู้สึก การแก้ปัญหาหรือหาทางออก และการปรับตัว ซึ่งจะเป็นฐานให้แก้ปัญหาที่ซับซ้อนเพิ่มขึ้น การเตรียมตัวลูกให้ปรับตัวเท่าทันการเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา พ่อแม่เองก็ควรปรับตัว ปรับเปลี่ยนวิธีการเลี้ยงและการฝึกฝนเช่นกัน ให้ทันความเปลี่ยนแปลงในสังคม

การฝึกฝนในระยะแรกโดยทำให้เด็กดูเป็นตัวอย่าง ชักจูงให้เด็กทำตาม ฝึกซ้ำๆจนเด็กทำได้และทำสม่ำเสมอจนทำเป็นนิสัย ฝึกจากเรื่องที่ง่าย ไม่ซับซ้อนไปสู่งานที่ยากและซับซ้อน ให้รางวัลตามสมควรเพื่อจูงใจให้ทำต่อไป แล้วค่อยๆ ลดการกำกับดูแลลงทีละน้อย ลดรางวัลที่เป็นข้าวของเงินทอง ซึ่งเป็นรูปธรรมให้เป็นสิ่งที่เป็นนามธรรมมากขึ้นเมื่อเขาโตขึ้นตามลำดับโดยเฉพาะเมื่ออยู่ชั้นประถมปลาย เช่น ให้เขารู้สึกภูมิใจในตัวเองเมื่อเขาช่วยเหลือดูแลตัวเองได้ดี รู้สึกภูมิใจในตัวเองที่ได้ช่วยเหลืองานบ้านหรือช่วยเหลือผู้อื่น แทนที่จะทำเพื่อหวังรางวัล ขนมโปรด เงินทอง แต่กระนั้นคำชมเชยจากพ่อ แม่ยังควรมีอยู่แต่ใช้ห่างขึ้นจนเด็กรู้จักให้รางวัลกับตัวเอง อันจะเป็นทักษะของการรู้จักชื่นชมตนเองติดตัวเขาไป หากรวมกับทักษะด้านอื่นๆอย่างเหมาะสมแล้ว จะเกิดความสุขแท้จริงที่มาจากภายในใจของตนเอง ทำให้สามารถใช้ชีวิตอยู่ในสังคมอย่างมีความสุขยั่งยืนจากตัวตนภายในไปตลอดชีวิต